"ซีแพค กรีน โซลูชั่น" ตะลุยอีสาน ประเดิมที่ขอนแก่น ยกระดับวงการก่อสร้างไทย ล้ำเปลี่ยนโลก ครบจบที่เดียว  

"ซีแพค กรีน โซลูชั่น" ตะลุยอีสาน ประเดิมที่ขอนแก่น ยกระดับวงการก่อสร้างไทย ล้ำเปลี่ยนโลก ครบจบที่เดียวในวงการก่อสร้าง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน  เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องประชุมออคิด บอลลูม โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด นายศิริมงคล ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการ CPAC Solution Center จ. ขอนแก่น พร้อมด้วย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร เป็นประธานเปิดการเสวนา “CPAC Green Solution ล้ำ เปลี่ยน โลก Roadshow”  ซึ่ง บ.ซีแพค ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น โดยมีผู้ประกอบการซีแพค และนักธุรกิจในเขต จ.ขอนแก่น เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด

      นายศิริมงคล ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการ CPAC Solution Center จ. ขอนแก่น กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง และสร้างความร่วมมือ ระหว่างผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันนี้ ตั้งแต่เจ้าของงานก่อสร้าง, ผู้รับเหมา ,ช่าง ,ผู้ให้บริการด้านการก่อสร้าง ,ผู้ออกแบบ ,ผู้ผลิตวัสดุ และผู้จำหน่ายวัสดุทั้งในระดับประเทศรวมถึงในระดับท้องถิ่น ซึ่งซีแพค กรีน โซลูชัน ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะศึกษานวัตกรรมใหม่ๆ และนำมาปรับใช้ เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ขณะเดียวกันยังคงคำนึงถึง การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการ “Turn Waste to Value” คือการเปลี่ยน Waste หรือความสูญเสียให้เป็น Value หรือการสร้างผลประโยชน์คืนกลับสู่สังคม ผ่านการพัฒนานวัตกรรมโซลูชันครบวงจรด้วย CPAC Green Solution โดยมีการนำแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ยึดหลัก ESG 4 Plus ของ SCG มาใช้ในการดำเนินงานคือ มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ – Plus เป็นธรรม โปร่งใส

     " ซีแพค กรีน โซลูชัน มีโซลูชันที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าครบ จบที่เดียว ตั้งแต่เริ่มกระบวนการก่อสร้าง ,ระหว่างการก่อสร้าง และหลังการก่อสร้าง         โดยแบ่งเป็นกลุ่ม เรอ่มจากกลุ่มโซลูชันสำหรับงานสำรวจ และงานออกแบบ รวมไปถึงการควบคุมงานก่อสร้าง ได้แก่  CPAC Drone Solution โซลูชันสำหรับการสำรวจพื้นที่ โดยใช้โดรนบินสำรวจ และนำข้อมูลมาออกแบบจัดทำผังโครงการ ลดระยะเวลาในการสำรวจและลดความผิดพลาดในการก่อสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ และ CPAC BIM ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารงานก่อสร้าง เพื่อช่วยให้เห็นภาพงานก่อสร้างในทุกขั้นตอน

        กลุ่มโซลูชันสำหรับงานก่อสร้างประกอบด้วย  CPAC 3D Printing Solution โซลูชันการก่อสร้างรูปแบบใหม่โดยเครื่องพิมพ์แบบ 3 มิติ ขึ้นรูปด้วยปูนซีเมนต์เป็นรูปผนังอาคาร หรือชิ้นส่วนของอาคาร ตลอดจนชิ้นงานสำหรับตกแต่ง โดยสามารถทำการพิมพ์ขึ้นรูปทั้งแบบในพื้นที่ก่อสร้างเลย   และแบบผลิตจากโรงงาน   ช่วยลดการเกิดของเสียจากกระบวนการก่อสร้างลงอย่างน้อย 70%   CPAC Housing and Building Solution ก่อสร้างที่พักอาศัยที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยอยู่อย่างสะดวกสบาย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการก่อสร้าง ลดการใช้แรงงาน และ ลดเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้างที่หน้างานได้มากกว่า เมื่อเทียบกับระบบหล่อในที่ ประกอบด้วย ระบบผนังสำเร็จรูป (Precast) เป็นการผลิตผนังสำเร็จรูปจากโรงงาน แล้วนำมาประกอบหรือติดตั้งที่หน้างาน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการก่อสร้าง ลดเศษวัสดุเหลือใช้ที่ไซต์งานก่อสร้าง และ ระบบการก่อสร้างสำเร็จรูป PPVC (Prefabricated Prefinished Volumetric Construction) เป็นวิธีการก่อสร้างรูปแบบหนึ่ง ที่เตรียมชิ้นงานเป็นหน่วย เป็นโมดูล หรือลักษณะเป็นตู้ ที่มีระบบทุกอย่างประกอบเข้าไว้ด้วยกันแล้ว โดยทุกอย่างจะถูกผลิตตามมาตรฐานเฉพาะ เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อน ผลิตแต่ละโมดูลออกมาจากโรงงาน แล้วนำมาประกอบหรือติดตั้งที่หน้างาน เป็นการลดการใช้แรงงานให้น้อยลง ลดระยะเวลาในการก่อสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย ลดเศษวัสดุเหลือทิ้ง เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังเป็นการลดต้นทุนในการก่อสร้างได้อีกด้วย"

      นายศิริมงคล กล่าวต่ออีกว่า สุดท้าย คือ CPAC Ultracrete Solution เทคโนโลยีคอนกรีตสมรรถนะสูงผสมเส้นใยเหล็กที่มีกำลังรับแรงอัดมากกว่า 1,500 ksc ก้าวข้ามทุกขีดจำกัดของงานโครงสร้าง ตอบโจทย์แนวทางด้าน Low Carbon Construction ด้วยนวัตกรรมงานโครงสร้างจากวัสดุคอนกรีตสมรรถนะสูง ร่วมกับเทคโนโลยีการออกแบบโครงสร้างแบบใหม่ โครงสร้างที่ใช้ CPAC Ultracrete Solution นี้จะใช้ปริมาณวัสดุคอนกรีตและเหล็กเสริมน้อยกว่าโครงสร้างคอนกรีตธรรมดา โดยลดการใช้วัสดุได้มากถึง 40%  และทำให้สามารถลดขนาดโครงสร้างลงได้มากกว่า 20% เมื่อเทียบกับการใช้โครงสร้างทั่วไป ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม เหมาะกับการใช้งานก่อสร้างโครงสร้างที่ต้องการรับแรงสูง เช่น สะพาน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับงานตกแต่งด้านสถาปัตยกรรม เช่น Street Furniture หรือ Facade ตกแต่งอาคาร เป็นต้น

       ขณะที่  ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างเกิดการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ดังนั้นจึงมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเพื่อพัฒนา ให้กระบวนการการดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ในงานให้ได้มากที่สุด และอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ปัจจุบันนำเอาเข้ามาใช้ ได้แก่ BIM หรือ Building Information Modeling เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการสร้างแบบครบวงจรที่มีความแม่นยำ ตั้งแต่การออกแบบ การเขียนแบบ การคำนวณโครงสร้าง การประเมินราคา การวางแผนระบบต่างๆ ของอาคาร

    “ด้วยเทคโนโลยีของ BIM สามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา การออกแบบก่อสร้างอาคารเราจะใช้พิมพ์เขียว (Blueprint) ในการสร้างแบบจำลอง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย เพราะ       ในการก่อสร้างแต่ละครั้งย่อมจะต้องมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้แม่แบบพิมพ์เขียวมีหลากหลาย โดยเฉพาะหากมีการแก้ไขแบบแล้วผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายไม่ทราบก็ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ล่าช้า เป็นต้น โดย BIM จะเข้ามาช่วยลดขั้นตอนความซับซ้อนตรงนี้ ซึ่งหลักการทำงานของ BIM คือทุกคนที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศน์ของโครงการก่อสร้างจะทำงานบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แพลตฟอร์มที่ว่านี้จะเป็นระบบ 3 มิติ ดังนั้นจะทำให้เห็นภาพได้ง่ายและเข้าใจในสิ่งเดียวกัน ระบบสามารถตรวจสอบความขัดแย้งต่างๆ และสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ก่อนที่การก่อสร้างจะเริ่มต้น ทำให้ลดการสูญเสีย อีกทั้งเจ้าของโครงการก็สามารถตรวจสอบความก้าวหน้าได้ทุกเวลาและแจ้งแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตามสำหรับแนวโน้มในอนาคตมองว่า BIM จะต้องเข้ามาปฏิวัติวงการก่อสร้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจวงการก่อสร้างจะต้องปรับตัวเข้าสู่ทิศทางการทำงานของ BIM เพื่อให้เราสามารถแข่งขันในธุรกิจนี้ต่อไปได้