อาชีพเสริมเลี้ยงปลากดเหลืองในบ่อผ้าใบสร้างรายได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้ลงพื้นที่ไปพร้อมกับ นายเสกสรร สุขสันติพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการจังหวัด การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบัวลำภู ไปที่บ้านนายกฤษณะ รถหามแห่ เลขทะเบียนเกษตรกร 58-4115-1-00757 ที่อยู่ บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 3 บ้านเซิน ตำบลนาดี อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบเรื่องราคายางตกต่ำ ต่อมาทาง การยางแห่งประเทศไทย ได้มีโครงการสวัสดิการเงินกู้ยืมตามมาตรา 49 (5) จากการยางแห่งประเทศไทย เพื่อประกอบอาชีพเสริม จำนวน 50,000 บาท ต่อ 1 ราย
โดยนายกฤษณะ รถหามแห่ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อปี 2561 ตนเองได้ลงไปทำงานที่จังหวัดระยอง จึงไปเห็นการเลี้ยงกุ้งในบ่อผ้าใบ หลังจากที่อนุบาลกุ้งแล้วจึงนำกุ้งมาลงเลี้ยงที่บ่อดิน พอปี 2562 จึงกลับมาที่บ้านใน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู จึงได้ไปที่ตลาด และไปเห็นปลากดเหลือง ราคาตอนนั้นกิโลกรัมละ 200 บาท ตนเองจึงมีความคิดที่จะเลี้ยงปลากดเลืองในบ่อผ้าใบ หลังจากที่ศึกษาอยู่พักนึง ระหว่างนั้นก็ปลูกยางพาราไปด้วยแต่ราคาตกทำให้ขาดทุนไม่คุ้มค่า ประมาณปี 2563 ตนเองจึงได้คิดจะเลี้ยงปลากดเหลืองเป็นอาชีพเสริม โดยตนเองกับมารดา ได้ไปกู้ยืมเงินจากสำนักงานการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบัวลำภู คนละ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 100,000 บาท จากนั้นจึงไปซื้ออุปกรณ์ อาทิเช่น ผ้าใบ ท่อน้ำประปา เชือก เครื่องสูบน้ำ ฯลฯ ต้นทุนการเลี้ยงปลา บ่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง
18 เมตร จำนวน 1 บ่อ - ราคาบ่อ 25,000 บาท/บ่อ - ลูกปลา 12,000 ตัว/บ่อ ราคาตัวละ 2 บาท - อาหารปลา 32,500 บาท/บ่อ - ค่าจุลินทรีย์บำบัดน้ำ 1,000 บาท/บ่อ – ค่าไฟฟ้า 7,000 – 9,000 บาท ต่อ 1 เดือน โดยขณะนี้ได้เลี้ยงอยู่ 6 บ่อ บ่อ 18 เมตร 2 บ่อ ,บ่อ 12 เมตร 1 บ่อ ,บ่อ 8 เมตร 1 บ่อ ,บ่อ 5 เมตร 1 บ่อ ,บ่อ 4 เมตร 1 บ่อ ผลผลิตต่อรอบ 1,000 กก. - ตัวละประมาณ 1 ขีด ราคาจำหน่าย 120-150 บาท ต่อ 1 กิโลกรัมระยะเวลาในการเลี้ยง 120 – 180 วัน จุดที่จัดจำหน่ายคือ ตลาดในชุมชน ,ตลาดออนไลน์ และจะมีพ่อค้าต่างจังหวัดมารับเองที่ฟาร์ม เช่น กาฬสินธุ์, อุดรธานี, สกลนคร, หนองบัวลำภู, นครพนม โดยจะจำหน่ายในรูปแบบปลาสด
ส่วนอุปสรรคในการเลี้ยงปลากดเหลืองโดยในช่วงฤดูหนาว จะมีปรสิตและแบคทีเรียภายนอก พวกเห็บระฆัง โดยวิธีการฆ่าเชื้อ ตนเองได้ปล่อยน้ำออกจากบ่อ 3 ส่วน 4 ของบ่อ และนำฟอร์มาลีน ลงมาฆ่าเชื้อโดยฟอร์มาลีนจะมีฤทธิ์อยู่ 24 ชั่วโมง โดย 1 บ่อ จะทำประมาณ 3 ครั้งถึงหาย
ทางด้านนายเสกสรร สุขสันติพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการจังหวัด การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ให้สัมภาษณ์ว่าในรายของ นายกฤษณะ รถหามแห่ พร้อมมารดา ที่มากู้ยืมเงินจากการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นเงินจากสวัสดิการ เพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 49 (5) โดยเกษตรกรทั้ง 2 รายนั้น นับว่าเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า มีความทันสมัยในการประกอบอาชีพ ในการทำการเกษตร โดยวงเงินที่มาขอกู้กับการยางแห่งประเทศไทย เป็นเงินที่กู้ไปบรรเทาความเดือดร้อน ในยามที่ยางพาราราคาตกต่ำ เพื่อให้เกษตรกรไปประกอบอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว วงเงินที่กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาให้กู้ไม่เกิน 2 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาทต่อปี